ฉนวนกันความร้อนมีกี่ชนิด ห้องไหนควรติดตั้ง
ปัจจุบันมีฉนวนกันความร้อนชนิดต่างๆ อยู่หลายชนิดซึ่งเหมาะกับงานที่อุณหภูมิต่างๆกัน ฉนวนชนิดโฟมฉีด (โพรียูรีเทน) ทนความร้อนสูงสุดได้ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นของเหลวบรรจุถัง ในต่างประเทศจะใช้ฉีดเข้าระหว่างฝาผนังบ้านที่ก่ออิฐ 2 ชั้น ในบ้านเราไม่นิยมทำเพราะราคาแพง เรามักพบฉนวนชนิดโฟมฉีดในเครื่องใช้ภายในบ้านคือ ใช้ฉีดเข้าไปโดยรอบผนังตู้เย็น หรือกระติกน้ำแข็ง
ฉนวนโฟมแผ่น (โพลีสไตลีน) ทนอุณหภูมิได้ 85 องศาเซลเซียส หรือที่เห็นกันทั่วไปจะเป็นแผ่นสีขาวๆ น้ำหนักเบา แม้ว่าฉนวนชนิดโฟมแผ่นจะทนความร้อนได้ดีกว่าฉนวนใยแก้วก็ตาม แต่่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นฉนวนภายในบ้านอยู่อาศัย เพราะเป็นฉนวนที่ เสื่อมสถาพได้ง่าย ติดไฟได้ง่าย และหากติดไฟจะเกิดก๊าซพิษ มีการนำฉนวนชนิดโฟมแผ่นไปใช้บุผนังตู้แช่สแตนเลส ซึ่งเป็นการใช้ที่ไม่่ถูกต้องเพราะโฟมแผ่นจะ เสื่อมสภาพการเป็นฉนวนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการดูดซึมของน้ำที่กลั่นตัวจากไอน้ำในอากาศรอบผนังตู้แช่
สำหรับบ้านเรา ที่มีการใช้กันมากที่สุดสำหรับการบุอาคาร และมีการผลิตจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็น ฉนวนใยแก้ว ( Glass wool )
ฉนวนใยแก้วเป็นวัสดุที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ประกอบขึ้นด้วยเส้นใยแก้วจำนวนมาก ทนต่อกรดด่าง และกัดกร่อนของสารต่างๆ ได้ดี ไม่เป็นสารพิษต่อมนุษย์ และปลวกก็ไม่กิน
โดยจะใช้เป็นรูปแบบแตกต่างกัน ตามลักษณะงานที่ใช้อาคาร บ้านพักอาศัย และสำนักงานต่างๆ นิยมใช้ฉนวนใยแก้วแบบม้วน และแบบแผ่น ทนอุณหภูมิได้สูงสุดถึง 350 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใช้บุตามเพดานหลังคาหรือฝาผนัง
สำหรับห้องที่ควรบุฉนวนกันความร้อน ได้แก่ ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ กล่าวคือ หากความร้อนเข้าสู่อากาศมากๆ จะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ก็จะสูงตามไปด้วย เมื่อบุฉนวนก็จะช่วยป้องกันความร้อน และอุณหภูมิจากแสงอาทิตย์ ในตอนกลางวัน อีกทั้งในตอนกลางคืนก็ยังสามารถช่วยให้ความร้อนจากอุณหภููมิภายนอกที่สูงกว่าถ่ายเทเข้าไปในห้องได้น้อยลง พร้อมทั้งเก็บความเย็นไว้ได้นานอีกด้วย และช่วยลดการสึกหรอจากการ ใช้เครื่องปรับอากาศให้สามารถใช้งานได้ไปอีกนาน
ท่านทราบไหมว่าเครื่องปรับอากาศที่ท่านใช้อยู่นั้น ทำหน้าที่ดึงเอาความร้อนจากคนที่อาศัยอยู่ในห้องไม่ถึงร้อยละ 10 แต่จะดึง เอาความร้อนที่ถ่ายเทเข้ามาตามฝาผนัง ฝ้าเพดาน หน้าต่าง กระจก และรอยรั่วของประตูหน้าต่างประมาณร้อยละ 80-90 ดังนั้นหากสามารถลดความร้อนที่ผนัง และฝ้าเพดาน ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ลงได้แล้ว ท่านจะสามารถลดขนาดของเครื่องปรัับอากาศลงได้ และลดค่าไฟฟ้าลงได้มาก